การเข้ารับการประเมินเพื่อรับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน โรงเรียน บ้านนาโคก

โพสต์14 ม.ค. 2563 01:20โดยนางณัชชา อยู่สุขเสถียร

        

        วันที่ 14  มกราคม  2563  ดร. รอง  ปัญสังกา  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 พร้อมด้วย นายสายรุ่ง  ปลั่งกลาง  รอง.ผอ.สพป.เลย เขต 1 นำข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมให้กำลังใจในการประเมินเพื่อเข้ารับรางวัลโรงเรียนพระราชทานของ โรงเรียนบ้านนาโคก  โดยมี ดร.อรุณี  ราชพัฒน์  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาโคกพร้อมด้วยข้าราชการครู  นักเรียน เป็นผู้เข้ารับการประเมิน นอกจากนี้ยังมีผู้นำท้องถิ่น  ผู้นำชุมชน และชุมชนเข้าให้กำลังใจ โดยตัวชี้วัดของรางวัลโรงเรียนพระราชทานมี 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเด็ก 2.ด้านหลักสูตร 3.ด้านบริหารจัดการ 4.ด้านครู ผู้บริหารและบุคลากร และ 5.ด้านการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน

1.ด้านเด็ก คณะกรรมการเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ นักเรียนมีมารยาทสังคม สามารถตอบคำถามได้อย่างสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าแสดงออก แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีผลพัฒนาการในด้านต่างๆ เห็นชัดเจน

2.ด้านหลักสูตร มีการสอนตามหลักสูตร Fun Find เน้นให้เด็กมีการเรียนรู้ที่สนุกสนานผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย

3.ด้านบริหารจัดการ มีการประสานการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายสนับสนุน ฯลฯ เป็นอย่างดี

4.ด้านครู ผู้บริหารและบุคลากร ทุกฝ่ายมีความเข้าใจในเรื่องการดูแลนักเรียนผ่านการบริหารงานที่เป็นระบบ

5.ด้านการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองดีมาก ทั้งในด้านการสนับสนุนโรงเรียนและการทำงานร่วมกันอย่างเข้าใจ รวมไปถึงการให้การเอาใจใส่ต่อชุมชน

 ประเทศไทยมีการสร้างมาตรฐานการจัดการศึกษาในหลากหลายด้าน และหนึ่งในมาตรฐานการศึกษาอันทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับคือ รางวัลโรงเรียนพระราชทาน เป็นโครงการที่จะทำการคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทานเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  มีพระราชปรารภกับ หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการใจความว่าเรามีโรงเรียนจัดการศึกษาดีจนนักเรียนสอบได้ผลดีมาก โรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสมควรจะได้รับพระราชทานรางวัลทั้งนี้ได้ทรงกำชับว่าหากพิจารณาแล้วได้ผลประการใดทรงมีพระราชประสงค์จะทรงทราบด้วย กระทรวงศึกษาธิการได้รับสนองพระราชปรารภมาดำเนินการตั้งแต่ปี 2506 จนถึงปัจจุบัน รางวัลพระราชทาน จึงเป็นรางวัลที่มีเกียรติยศสูงสุดเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับ ซึ่งการดำเนินงานจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบทุกขั้นตอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินและการคัดเลือก คณะกรรมการที่รับผิดชอบการดำเนินงาน และคณะกรรมการประเมินจะต้องดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดด้วยความรอบคอบ บริสุทธิ์ ยุติธรรม ยึดหลักวิชาการ

ใช้ความสามารถและดุลยพินิจในการพิจารณาตัดสินผลอย่างถูกต้องตามหลักการ ต้องมีใจเป็นกลาง ไม่โน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ได้บุคคลหรือสถานศึกษาที่สมควรได้รับเกียรติอันสูงสุดคือการได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเพื่อรับพระราชทานรางวัล (ข้อมูลจาก www.sahavicha.com)>>ภาพเพิ่มเติม CLICK<<<

    

Comments